วิชาการนานาชาติ

โครงการวิชาการนานาชาติ โดย ผศ.ดร. ณมน จีรังสุวรรณ (ตวงรัตน์) ได้ดำเนินการติดต่อเชิญ Professors ผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Learning และ ด้าน Instructional Design จากประเทศสหรัฐอเมริกา รวม 4 ท่าน ในปี 2549 ได้จัดขึ้นรวม 2 ครั้ง เพื่อสนับสนุนนโยบายของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติในปี พ.ศ. 2555

โครงการวิชาการนานาชาติ ลำดับที่ 1 ได้จัดเมื่อ 2 มีนาคม 2549 เรื่อง Emerging Issue in e-Learning and Distance Learning วิทยากร (1) Professor Dr. Muriel Oaks, Dean of the Center for Distance and Professional Education, (2) Prof. Dr. Merril Oaks. Washington State University และ (3) ผศ.ดร. ณมน จีรังสุวรรณ(ตวงรัตน์) วิทยากรร่วม/ดำเนินรายการ

โครงการวิชาการนานาชาติ ลำดับที่ 2 เรื่อง “Instructional Design and e-Learning” วันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2549 ณ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เวลา 16.00 - 20.00 น. วิทยากร (1)Prof. Dr. Dempsey, Director of Online Learning Lab, Fulbright Scholar, (2) Prof. Dr. Litchfield, University of South Alabama และ (3) ผศ. ดร. ณมน จีรังสุวรรณ (ตวงรัตน์) เป็น Co-Speaker and Moderator พร้อมทั้งการนำเสนอ ผลงานวิทยานิพนธ์ที่ได้รางวัลนวัตกรรมเทคโนโลยี 2549 โดย Advisee ธีรศานต์ ไหลหลั่ง (มหาบัณฑิต 2549)

ผลงาน วิทยากร ที่ปรึกษา

  • ผศ.ดร. ณมน จีรังสุวรรณ (ตวงรัตน์) เป็นวิทยากร Learning Design ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและ Constructivism เพื่อ e-Learning เมื่อ 10 สิงหาคม 2550 ในการสัมมนาระดับชาติ TCU: National e-Learning Conference 2007 ณ เมืองทองธานี
  • ผศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ (ตวงรัตน์) นำเสนอบทความวิจัยเรื่อง“รูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสานที่บูรณาการภาษาอังกฤษเพื่อการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยโดยอาศัย Weblog กรณีศึกษาระดับปริญญาโท” ในงาน TCU:National e-Learning Conference, อิมแพค เมืองทองธานี 10 Aug 2007 (2550) จัดโดย โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • ผศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ (ตวงรัตน์) เป็นวิทยากร เรื่อง การออกแบบบทเรียน e-Learning ตามมาตรฐาน SCORM และ Instructional Design ให้กับนักออกแบบบทเรียน e-Learning ศูนย์สื่อการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อ 18-19 มิถุนายน 2550
  • ผศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ (ตวงรัตน์) เป็นวิทยากร บรรยายพิเศษ เรื่อง แนวโน้มงานวิจัยด้านการออกแบบพัฒนาระบบการเรียนการสอนอิเลคทรอนิคส์ อาทิตย์ 27 พ.ค. 2550 ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร วิชา 472 575 สัมมนา การออกแบบพัฒนาระบบการเรียนกาสอนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคการศึกษา ฤดูร้อน 2549 ระดับปริญญาเอก สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน กลุ่มเทคโนโลยีการศึกษา
  • ผศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ (ตวงรัตน์) เป็นวิทยากร เรื่อง การบูรณาการ หลักการออกแบบ ทฤษฎีการเรียนรู้ เทคโนโลยี เพื่อสร้างงานวิจัยระดับปริญญาเอก วันที่ 18 มกราคม 2550 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้กับคณาจารย์และนักศึกษา ระดับดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามโครงการเสวนาวิชาการสัญจรและโครงการพัฒนาศักยภาพ

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2550

สมอง ... การคิด และ ... การสังเคราะห์โมเดลการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

..................โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตวงรัตน์ ศรีวงษ์คล


“เด็กเล็ก เร็วไปที่จะฝึก ให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ หรือไม่
แก่แล้วจะพัฒนาสมองได้ไหม
การคิดอย่างมีวิจารณญาณจะฝึกกันได้อย่างไร
การเรียนการสอน จำเป็นต้องเน้นให้ผู้เรียน คิดเป็น คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดแก้ปัญหา และคิดสร้างสรรค์ หรือไม่”

ระบบการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของไทย ควรมุ่งเน้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีพัฒนาการอย่างไรนั้น นายรุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (อ้างถึงใน ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ และ อุษา ชูชาติ, 2545) กล่าวว่า
.....ปฏิรูปการเรียนรู้โดยจัดการเรียนที่มีความสุข เปิดโอกาสให้คิด สะกิดให้ถาม พยายามให้คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เป็นการพัฒนา ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างคนที่ เรียกได้ว่ามี “ปัญญา”

สมอง... การคิด

การฝึกทักษะการคิด (Thinking Skill) เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน ความคิดเกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ การรับรู้ การสัมผัส การเคลื่อนไหว และการลงมือปฏิบัติ กิจกรรมการเรียนการสอนควรจัดให้ผู้เรียนได้ทดลอง สืบค้น เผชิญสถานการณ์ และแก้ปัญหา โดยที่ผู้สอน มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้น เสริมความรู้ และฝึกการคิดด้วยวิธีต่าง ๆที่เหมาะสม
สมองคิดได้ ถ้ามีโอกาสฝึกการคิดและเรียนรู้ด้วยกระบวนการเรียนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้และดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน
สมองสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมายมหาศาล ยิ่งถ้าใช้สมองมาก สมองยิ่งสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ ๆ เชื่อมติดต่อกันมากขึ้น ยิ่งฝึกฝนสมองให้คิด เช่นคิดตั้งคำถาม คิดหาคำตอบ โดยเฉพาะเด็กเล็ก สมองยิ่งสร้างเครือข่าย ยิ่งเป็นสมองที่คิดเป็นอย่างมีวิจารณญาณ
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่เด็กเล็ก จนก่อนจะถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย หากเข้ามหาวิทยาลัยแล้วเรียนจนจบปริญญาตรี ต่อระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก แต่ยังมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณน้อย ก็ยิ่งต้องพยายามสร้างกันให้มีมากขึ้น แม้จะลำบากยากเข็ญมากขึ้น กระบวนการเรียนการสอนยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้น ผู้สอนยิ่งต้องมีความรู้ความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียน จนสามารถสร้างการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ถ้าเราไม่ใช้สมอง เราจะสูญเสียเซลล์สมองหรือเส้นใยสมองจำนวนมากมายในแต่ละวัน แต่ถ้าเราใช้สมองมาก จะยิ่งเพิ่มขนาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะในการคิดมากขึ้น สมองมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้วยกระบวนการเรียนรู้ ได้จนเข้าสู่วัยชรา ดังนั้น ขอย้ำว่า ยังไม่สายเกินไปที่เราจะพัฒนาทักษะในการคิดเพื่อพัฒนาสมองให้มีเส้นใยมาก ๆ
คนเราใช้สมองในการคิดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของสมองทั้งหมด (http://www.enchantedmind.com/, Retrieved on Feb 28, 2007) เรายังมีโอกาสที่จะใช้สมองให้เต็มที่ สมองยังมีพื้นที่อีกมากในการเรียนรู้ สมองที่ไม่ได้ใช้ จะยิ่งคิดไม่เป็น การฝึกสมอง สามารถทำได้โดยการคิดตั้งคำถามและคิดหาคำตอบ ยิ่งสร้างเส้นใยสมองที่เป็นตัวช่วยคิดให้มากขึ้น คิดและทำกิจกรรม เรียนรู้จากประสบการณ์ตลอดเวลา รวมทั้งนำไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นการพัฒนาสมองและความคิด
ยุทธวิธีที่ผู้สอนสามารถใช้ในการเรียนการสอน (Learning Strategy) เพื่อฝึกสมองให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ ได้แก่ การตั้งคำถาม ควรเป็นคำถามที่ใช้ความเข้าใจ นำไปประยุกต์ใช้ ใช้การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินผล มีการอภิปราย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันแก้ปัญหา มีการทดลองทำ เผชิญสถานการณ์จำลอง เขียนรายงาน การสัมมนา การเขียนบันทึก การวางกรอบแนวคิด การประเมินโดยผู้เรียนมีส่วนร่วม การสะท้อนความคิดต่อสิ่งที่เรียนรู้
นักวิจัยสนใจและได้ศึกษาบทบาทของการเรียนการสอนที่ใช้กระบวนการทางปัญญา (Cognitive Processes) เช่น การสร้างองค์ความรู้ (Knowledge Construction) การแก้ปัญหา (Problem Solving) และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Murphy, 2004)
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นกระบวนการหลักและมีความสำคัญมาก McPeck (1981) กล่าวว่า การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการศึกษา Newman, Webb, and Cochrane (1995) ได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับวัดการคิดอย่างมีวิจารณญาณในการเรียนการสอนแบบเดิมหรือแบบในห้องเรียน และการเรียนการสอนแบบออนไลน์ด้วยตัวบ่งชี้ถึง 46 ตัว ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและไม่คล่องตัวในการใช้ ต่อมาได้มีการศึกษาเครื่องมือที่สามารถใช้ได้สะดวกสำหรับนักออกแบบ ผู้สอน ผู้เรียน และนักวิจัยใช้ในการแยกแยะ ประเมิน และสนับสนุนการคิดอย่างมีวิจารณญาณในบริบทของการเรียนการสอนออนไลน์แบบไม่สัมพันธ์เวลา (Online Asynchronous Discussions)
แบบวัดการคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Watson-Glaser Critical Thinking Appraisal ที่พัฒนาโดย Watson และ Glaser ในปี 1937 และปรับปรุงในปี 1980 และ Cornell Critical Thinking Test ที่พัฒนาโดย Ennis และ Millman ในปี 1961 และปรับปรุงในปี 1985 โดย Ennis และ Millman แบ่งแบบวัดออกเป็น 2 ระดับ คือ Cornell Critical Thinking Test, level X ใช้สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก 71 ข้อ ใช้เวลาประมาณ 50 นาที แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือการอุปนัย (Induction) ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และการสังเกต (Credibility of Sources and Observations) การนิรนัย (Deduction) การระบุข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption Identification) และ Cornell Critical Thinking Test, level Z ใช้สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปัญญาเลิศ นักศึกษาระดับวิทยาลัยและวัยผู้ใหญ่ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก 52 ข้อ ใช้เวลาประมาณ 50 นาที แบ่งออกเป็น 7 ตอน คือ การอุปนัย (Induction) ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล (Credibility of Sources) การพยากรณ์และการวางแผนการทดลอง (Prediction and Experimental Planning) การอ้างเหตุผลผิดหลักตรรกะ (Fallacies) การนิรนัย (Deduction) การให้คำจำกัดความ (Definition) การระบุข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption Identification)

ความหมายของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

มีหลายข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ หลายคนใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า Higher Order Thinking, Deep Thinking, Good Thinking, and Problem Solving
Norris and Ennis (1989) ให้ความหมายว่าการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ว่าคือความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นความคิดสะท้อนที่เน้นการตัดสินใจว่าควรเชื่ออะไรหรือทำอะไร


โมเดลสำหรับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

นักทฤษฎีหลายคนได้พูดถึงโมเดลการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เช่น โมเดลของ Brookfield (1987) โมเดลของ Norris and Ennis (1989) โมเดลของ Bullen (1998) และโมเดลของ Garrison, Anderson and Archer (2001)

โมเดลที่ 1: Brookfield (1987)
ใช้ในบริบทของสังคมวิทยา มี 5 ขั้นตอน คือ ขั้นการกระตุ้น ขั้นการประเมิน ขั้นการสำรวจ ขั้นการพัฒนาทางเลือก และขั้นการบูรณาการ
โมเดลที่ 2: Norris and Ennis (1989)
ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ ขั้นการระบุปัญหา ขั้นการสนับสนุน ขั้นการวินิจฉัย ขั้นการทำความกระจ่าง ขั้นยุทธวิธีและกลยุทธ์
โมเดลที่ 3: Bullen (1998)
ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการระบุปัญหา ขั้นการประเมินหลักฐาน ขั้นการวินิจฉัย ขั้นยุทธวิธีและกลยุทธ์ที่เหมาะสม
โมเดลที่ 4: Garrison, Anderson, and Archer (2001)
โมเดลของ Garrison, Anderson, and Archer เป็นโมเดลที่อาศัยโมเดลสังคมแห่งการสืบสอบ (Community of Inquiry) ซึ่งนำเสนอใน 3 รูปแบบ คือ
(1) การนำเสนอในรูปแบบปัญญา (Cognitive Presence)
(2) การนำเสนอในรูปแบบสังคม (Social Presence)
(3) การนำเสนอในรูปแบบการสอน (Teaching Presence)
ในที่นี้ ขอกล่าวถึงการนำเสนอในรูปแบบปัญญา ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการกระตุ้น ขั้นการสำรวจ ขั้นการบูรณาการ ขั้นการแก้ปัญหา
ขั้นการกระตุ้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดประเด็นปัญหาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การกระตุ้นอาจเกิดจากผู้เข้าร่วมการอภิปรายคนใดคนหนึ่งก็ได้ โดยผู้สอนมีบทบาทในการติดตาม (Monitor) ให้เกิดการกระตุ้น และอาจแทรกแซงให้เกิดขึ้นหากจำเป็น ทั้งนี้โดยมุ่งให้เกิดผลลัพธ์ในทางการศึกษาที่ตั้งไว้
ขั้นการสำรวจ เป็นขั้นที่สอง โดยเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างส่วนบุคคลและส่วนรวม อาศัยการสะท้อนความคิด การอภิปรายแลกเปลี่ยน เป็นกิจกรรมในการตั้งคำถาม การสร้างให้เกิดแนวคิด และแบ่งปันข้อมูลกับผู้อื่น
ขั้นการบูรณาการ คือการนำข้อมูลมาทำให้เกิดความหมาย เช่น ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมแบบฝึกหัดและสะท้อนความคิดในการพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ให้เหมาะกับปัญหาในแต่ละกรณี ขั้นการบูรณาการนี้ ควรเป็นขั้นตอนจากการวิเคราะห์และการมีส่วนร่วม (Contributions) ของผู้เรียน
ขั้นการแก้ปัญหา เป็นขั้นการทดลองปฏิบัติจนได้แนวทางการแก้ปัญหา ได้คำตอบ ซึ่งอาจดำเนินตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กล่าวมา โดยขั้นตอนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับก่อนหลัง หรืออาจละเว้นบางขั้นตอนก็ได้

การสังเคราะห์โมเดลการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

โมเดลเกี่ยวกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณทั้งสี่นี้ มีทั้งลักษณะที่เหมือนและแตกต่างกันในประเด็นต่างๆ เมื่อวิเคราะห์โมเดลทั้งสี่พบสิ่งที่เหมือนและแตกต่างกัน ดังนี้

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบโมเดลการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของ Brookfield (1987) Norris and Ennis (1989) Bullen (1998) และ Garrison, Anderson and Archer (2001)
(ตารางที่ 1 หาดูได้จาก วารสารเทคโนโลยีทางปัญญา ปีที่ 1ฉบับที่ 2)

จากโมเดลทั้งสี่นี้ เมื่อวิเคราะห์แต่ละขั้นตอน สามารถสังเคราะห์เป็นโมเดลกลาง ๆโดยมีขั้นตอนต่างๆ ของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยสรุป 5 ขั้นตอน
1. ขั้นการระบุประเด็น (Recognise Phase)
เนื่องจาก ขั้นเริ่มต้นในแต่ละโมเดลจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดประเด็นปัญหา และระบุปัญหา ดังนั้นจึงสรุปรวมว่า เป็นขั้นระบุประเด็น ปัญหา คำถาม โดยผู้สอนหรือผู้เรียนก็ได้
2. ขั้นการเข้าใจ (Understanding Phase)
ขั้นการเข้าใจ เป็นขั้นรวมๆของขั้นที่สองของโมเดลทั้งสี่ ซึ่งรวมการสำรวจประเด็นที่เกี่ยวข้อง การสังเกต การรวบรวมข้อมูลภายนอก ข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากบุคคลอื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจและความกระจ่างชัดของประเด็นปัญหา
3. ขั้นการวิเคราะห์ (Analyze Phase)
ในขั้นนี้ ทั้ง Brookfield (1987) และ Norris and Ennis (1989) อธิบายว่าเป็นขั้นตอนการตัดสินข้อคิดเห็นของบุคคลและการสำรวจเหตุผลทางเลือกต่าง ๆ ซึ่ง Brookfield (1987) ให้นิยาม การสำรวจนี้ว่า หมายถึง การพยายามหาคำตอบหรือการแก้ปัญหา และ Norris and Ennis (1989) อธิบายว่า ความสามารถในการพิจารณาข้อสรุปอย่างรอบคอบ ในการวินิจฉัยข้อสังเกตของแต่ละบุคคล เป็นขั้นตอนอย่างมีเหตุ มีผล เพื่อให้ได้การตัดสินใจสุดท้าย
ดังนั้น จึงขอใช้คำว่า การวิเคราะห์ ซึ่งรวมการสำรวจข้อคิดเห็น และการวินิจฉัยหาข้อสรุป การตัดสิน ซึ่งการวิเคราะห์ เป็นทักษะในการพิจารณาความคิดอย่างรอบคอบ เป็นการเชื่อมโยงกระบวนการของความเข้าใจและการประเมินผ่านการพิจารณาความคิดอย่างรอบคอบของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ในขั้นนี้ ยังรวมถึง การแยกแยะ การจัดจำพวกของหลักฐาน ข้อมูล ความรู้ หรือ ความคิดเห็น การแยกแยะความแตกต่างของความคิดเห็น การแปลและอธิบายปัญหา ประเด็น และระบุช่องว่างระหว่างความรู้หรือข้อมูล
4. ขั้นการประเมิน (Evaluate Phase)
ขั้นการประเมิน เป็นความสามารถในการอธิบาย พิจารณาความหมาย และระบุสมมุติฐาน หรือคาดเดาคำตอบ รวมทั้ง การสะท้อนความคิด การอภิปรายเพื่อพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การค้นพบการอ้างเหตุผลโดยไม่สมเหตุสมผลหรือผิดหลัก การขัดแย้งกันทางความคิด ความสอดคล้อง การยอมรับหรือปฏิเสธข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็น ด้วยการประเมิน การตัดสินโดยผ่านการะบวนการทำซ้ำของการอภิปรายและสะท้อนความคิดโดยผู้สอน ผู้เรียน หรือ ผู้วิจัยที่เกี่ยวข้อง
5. ขั้นการสร้างความรู้ (Create Phase)
ขั้นการสร้าง เป็นขั้นของการสร้างความรู้ ความคิดเห็น หรือ ยุทธวิธี และการนำไปใช้ โดยการใช้ยุทธวิธีและกลยุทธ์ การประยุกต์ใช้แนวทางการแก้ปัญหา ข้อสรุปที่แท้จริงหรือที่คาดหวัง สร้างความรู้หรือแนวคิดใหม่ ก่อให้เกิดคำตอบหลาย ๆ คำตอบเป็นทางเลือก ปฏิบัติตามแนวทางแก้ปัญหาหรือข้อสรุป ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือก่อให้เกิดแผนหรือนโยบาย
สรุปได้ว่า จากการวิเคราะห์โมเดลทั้งสี่ สามารถสังเคราะห์เป็นโมเดลการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย การระบุประเด็น การเข้าใจ การวิเคราะห์ การประเมิน และการสร้าง

References

ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ และ อุษา ชูชาติ ฝึกสมองคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2544.

McPeck, J. E. (1981) Critical thinking and Education. Oxford: Martin Robertson.

Murphy, E. (2004). An instrument to support thinking critically about critical thinking in online asynchronous discussions. Australasian Journal of Educational Technology, 20(3), 295-315.

Murphy, E. (2004). Identifying and measuring ill-structured problem formulation and resolution in online asynchronous discussions. Canadian Journal of Learning and Technology, 30(1), 5-20. Retrieved on 10 Mar 2007, http://www.cjlt.ca/content/vol30.1/index.html

Newman, D. R., Webb, B., & Cochrane, C. (1995). A content analysis method to measure critical thinking in face-to-face and computer supported group learning. Interpersonal Computing and Technology Journal, 3(5) 56-77.

Norris, S.P. & Ennis, R. (1989). Evaluating critical thinking. In R. J. Schwartz& D. N. Perkins (Eds), The practitioners’ guide to teaching thinking series. Pacific Grove, CA: Midwest Publications.

เกี่ยวกับผู้เขียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตวงรัตน์ ศรีวงษ์คล, Ph. D. (Instructional Design and Development)
ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
1518 ถ. พิบูลสงคราม บางซื่อ กทม. 10800
tuangrat@hotmail.com
(สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ: Instructional Design and Development, Educational Media, Online Learning, e-Learning), จิตวิทยาและทฤษฎีการเรียนรู้, นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา, การผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา, การวิจัยทางเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา )

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

Research in e-Learning

Overall Pictures of Research in e-Learning as follows:
viewed from (http://www.elearning-reviews.org)

Topics Overview (292) can be classified into following categories:

Pedagogy (87), Strategy (26), Institutional Strategies (8), Business Models (6), Cooperation (2), Implementation (6)
Policy (0), Environment (2), Human Computer Interaction (37), Technology (51), Quality (15)
Resource Management (11), Organisation (12), Culture (33), Competence Development (15)

Seminar on e-Learning and Instructional Design, Dec 12, 2006


WebQuest กับ Collaborative Learning

WebQuest กับ.......การเรียนการสอนแบบ Cooperative Learning และ Collaborative Learning
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตวงรัตน์ ศรีวงษ์คล


WebQuest คืออะไร
หลายท่านคงสงสัยว่ากิจกรรม WebQuest คืออะไร WebQuest เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ออกแบบมาให้เหมาะกับรูปแบบการเรียนการสอนบนเว็บโดยเน้นว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ผู้เรียนใช้มาจากเว็บ จุดเด่นของการเรียนการสอนบนเว็บ คือมีฐานข้อมูลให้เสาะแสวงหาความรู้ และสามารถเรียนรู้ในรูปแบบของความร่วมมือ (Cooperative and Collaborative Learning) ได้เป็นอย่างดี WebQuest ได้รับการพัฒนาโดย Bernie Dodge และ Tom March ในปี ค.ศ. 1995 ณ. มหาวิทยาลัยซานดิเอโก (San Diego State University) และได้รับความสนใจจากนักการศึกษาจำนวนมากมายในการนำไปใช้กับบทเรียนและรายวิชาต่างๆ สามารถเน้นการแสวงหาความรู้ โดยมีฐานข้อมูลที่ผู้เรียนจะสามารถค้นหาได้จากแหล่งต่าง ๆ บนอินเตอร์เน็ต (Dodge, 1995) WebQuest เน้นการรู้จักใช้ข้อมูลสารสนเทศมากกว่าการแสวงหาข้อมูลสารสนเทศ รูปแบบของกิจกรรมเว็บเครสท์สามารถสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงอย่างขั้นการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินผล (http://edweb.sdsu.edu/webquest/overview.htm) ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการแก้ปัญหา ผู้เรียนต้องค้นหาและสร้างสรรค์ความรู้จากการแสวงหาด้วยตนเอง หรือใช้ความร่วมมือในกลุ่มของผู้เรียน ผู้เรียนจะแสวงหาความรู้ในฐานข้อมูลของ World Wide Web และจากแหล่งข้อมูลที่จัดเตรียมและเสนอแนะไว้โดยครูผู้แนะนำอย่างมีความหมาย เนื้อหาความรู้อาจอยู่ในรูปของข้อเท็จจริง หรือประเด็นข้ออภิปรายต่างๆ ทั้งนี้ ผู้เรียนจะต้องมีการแสวงหาและวิเคราะห์หาคำตอบและรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้มากกว่าการจำเนื้อหาสาระ โดยไม่สามารถนำไปใช้ได้ เว็บเครสท์ได้รับความสนใจเพราะได้เอื้อความสะดวกโดยมีโครงสร้างและคำแนะนำให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษา หากลองค้นหาบนเว็บ คำว่า WebQuest จะปรากฏตัวอย่างขึ้นมามากมายเป็นพันๆ ตัวอย่าง ซึ่งมีทั้งตัวอย่างที่ถูกต้องตามโมเดลของเว็บเครสท์และมีมากมายที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง
เว็บเครสท์ส่งเสริมและก่อให้เกิดความคิดเชิงวิพากย์ (Critical Thinking) การเรียนรู้แบบความร่วมมือ (Cooperative Learning) และบูรณาการเอาเทคโนโลยีเข้ามาร่วม (Technology Integration)
ความคิดเชิงวิพากย์ หมายถึงความสามารถของผู้เรียนในการพิจารณาข้อมูล ความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและที่ไม่ถูกต้องเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลที่แท้จริง (Actual Information) การเรียนรู้แบบความร่วมมือนั้น มีเว็บเครสท์หลายเว็บเครสท์ที่ออกแบบให้ผู้เรียนสามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อเกิดการเรียนรู้แบบความร่วมมือ นอกจากนี้ เว็บเครสท์ยังกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน ใช้ยุทธวิธีในการเพิ่มความสนใจของผู้เรียน ลักษณะแรกของเว็บเครสท์คือการใช้คำถามหลัก (Central Question) ซึ่งต้องหาคำตอบให้ได้ เมื่อถามผู้เรียนให้แก้ปัญหาที่ต้องเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้เรียนกำลังเรียนรู้งานที่แท้จริง (Authentic Task) ไม่ใช่เพียงปัญหาที่ยกขึ้นมาใช้ในห้องเรียนเท่านั้น ลักษณะที่สองของเว็บเครสท์ ที่กระตุ้นความสนใจของผู้เรียน คือการใช้แหล้งข้อมูลจริงในการหาคำตอบแทนที่จะใช้วิธีการเดิมๆ เช่น ศึกษาจากหนังสือ เอ็นไซโครปิเดีย หรือแม็กกาซีนเก่าๆ นักเรียนเรียนรู้ผ่านเว็บโดยสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน ฐานข้อมูลที่สืบค้นได้ การรายงานที่ทันโลกทันเหตุการณ์ เว็บเครสท์ที่ดีออกแบบให้ผู้เรียนสามารถเรียนอย่างอิสระ ทำให้ผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะช่วยเหลือผู้เรียนในการเรียนรู้มากกว่าการเป็นผู้ป้อนความรู้แต่เพียงผู้เดียว

ขั้นตอนในการออกแบบเว็บเครสท์
มีเว็บไซท์มากมายที่เกี่ยวกับขั้นตอนการออกแบบเว็บเครสท์ (http://webquest.sdsu.edu/) ทั้งนี้บางเว็บไซท์อาจจะเก่าไป ไม่สามารถเปิดดูได้ ควรทดสอบว่ายังเป็นเว็บไซท์ที่เปิดบริการอยู่หรือไม่ การออกแบบเว็บเครสท์นั้น ไม่จำเป็นต้องรู้การเขียนโปรแกรม หรือการออกแบบหน้าเว็บเพจ การออกแบบเว็บเครสท์นั้นสามารถใช้เพียงโปรแกรม Microsoft Word และใช้ Insert Command ใน Tool Bar ด้านบน และ Insert a Hyperlink ผู้เรียนเมื่อจะเรียนรู้ผ่านเว็บเครสท์ที่ผู้สอนออกแบบไว้ ก็เพียงแต่กด Ctrl Key และคลิกบน Link ก็จะสามารถเรียนรู้ผ่านเว็บนั้นๆ ได้

ส่วนต่างๆ ของเว็บเครสท์ (Parts of a WebQuest)

การออกแบบ WebQuest ที่ดีจะต้องทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะและผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีทางเลือกและแนวทางยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนที่จะหาคำตอบและแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ และเอื้อต่อการเรียนรู้แบบร่วมมือระหว่างผู้เรียน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 7 ส่วน ดังต่อไปนี้

1 ) ขั้นบทนำ (Introduction)
ในขั้นนี้เป็นขั้นเตรียมผู้เรียนให้พร้อมและให้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อเข้าสู่กิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อแสวงหาคำตอบ โดยทั่วไปจะเป็นการให้สถานการณ์ และให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ในขั้นต่อๆไป ตามที่ออกแบบไว้

2 ) ขั้นภารกิจ (Task)
ขั้นนี้เป็นขั้นการให้งานหรือภารกิจหรือสิ่งที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนเรียนรู้ให้สำเร็จ ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเว็บเควสท์ ซึ่งเป็นภารกิจที่ผู้เรียนจะต้องดำเนินการตามกิจกรรมขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ได้คำตอบ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ให้เป้าหมายและจุดเน้นสำหรับผู้เรียน หากสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นภารกิจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บไซท์ http://webquest.sdsu.edu/taskonomy.html

3 ) ขั้นแหล่งข้อมูล (Information Resources)
ขั้นนี้เป็นการให้แหล่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับทำภารกิจในขั้นที่สองให้สำเร็จ เป็นแหล่งข้อมูลที่มีบน World Wide Web และที่ครูผู้ชี้แนะจัดเตรียมประกอบไว้เพิ่มเติม เพื่อว่าผู้เรียนจะสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาแก้ปัญหาที่ได้รับมอบหมายให้หาคำตอบได้

4 ) ขั้นกระบวนการ (Process)
ขั้นนี้เป็นขั้นการชี้แนะว่าผู้เรียนจะต้องมีกระบวนการและกิจกรรมใดบ้างเพื่อให้บรรลุภารกิจที่วางไว้ โดยให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย มีกิจกรรมที่นำไปสู่ความคิดขั้นวิเคราะห์ ขั้นสังเคราะห์ และขั้นประเมินผล กิจกรรมนั้นควรที่จะเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) และกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ (Collaborative Learning) กระบวนการเหล่านี้จะต้องแตกย่อยให้เป็นขั้นตอนที่แน่นอนชัดเจน
5) ขั้นให้คำแนะนำ (Guidance)
ขั้นนี้เป็นขั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลว่าเป็นอย่างไร ในขั้นนี้อาจนำเสนอในรูปแบบของคำถามที่ต้องการให้หาคำตอบ หรือใบงานที่ต้องการให้ทำให้สมบูรณ์ นอกจากนี้ อาจเป็นตารางเวลา หรือแผนที่ ฯลฯ

6) ขั้นประเมินผล (Evaluation)
ในขั้นนี้ ควรกำหนดวิธีการประเมินไว้ เทคนิควิธีของเว็บเครสท์นั้น ผู้เรียนแต่ละคนอาจได้เรียนรู้เนื้อหาไม่เหมือนกันหมดทุกอย่าง ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์การประเมิน (Evaluation Rublics) โดยพัฒนาตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและง่ายต่อความเข้าใจของผู้เรียน เป็นขั้นการประเมินว่าผู้เรียนสามารถหาคำตอบและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพียงใด จะเน้นการวัดผลอย่างแท้จริง (Authentic Assessment) ซึ่งอาจเป็นในรูปของการประเมินเชิงมิติ (Rubrics) ที่มีการวางเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ชัดเจน ตัวอย่างการประเมินอย่างแท้จริง เช่น การจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ซึ่งสะสมงานทั้งหมดที่ได้จากกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน การสร้างแผนที่มโนมติ (Concept-map) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงความคิดที่หลากหลาย การเรียนรู้โดยการแก้ปัญหา (Problem based Learning) การเรียนรู้โดยอาศัยโครงงาน (Project-based Learning) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้บน WebQuest การประเมินผลอย่างแท้จริงในสภาพจริง เป็นสิ่งที่สำคัญของการเรียนรู้ เป็นการประเมินกระบวนการ การประเมินผลการปฏิบัติงาน มากกว่าการวัดเพียงความรู้ ความจำ

7) ขั้นสรุป (Conclusion)
ขั้นนี้เป็นขั้นให้ผู้เรียนทำการสรุปความคิดรวบยอดที่ผู้เรียนหรือกลุ่มผู้เรียนได้ช่วยกันแสวงหาความรู้ หาคำตอบ และสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา ทั้งนี้ขั้นสรุปนี้ควรเป็นขั้นที่ทำให้ผู้เรียนตระหนักว่าเขาควรจะเรียนรู้อะไรและแม้แต่กระตุ้นให้ผู้เรียนหาความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องในด้านนั้นๆ ต่อไปอีก

Cooperative Learning และ Collaborative Learning
หลายท่านคงสงสัยกับคำว่า Cooperative Learning และ Collaborative Learning คำว่า Cooperative Learning และ Collaborative Learning มีความหมายใกล้เคียงกันมาก บางครั้งเราสามารถใช้แทนกันได้ แต่โดยส่วนใหญ่คำว่า Collaborative Learning จะใช้กับการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งทั้ง Cooperative Learning และ Collaborative Learning จะมีข้อแตกต่างกันก็ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของบทเรียน (Pre-Structure) โครงสร้างงานหรือกิจกรรมการเรียน (Task-Structure) และโครงสร้างเนื้อหา (Content-Structure) ในขณะที่การเรียนการสอนแบบ Cooperative Learning จะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานมาก สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมแบบมีโครงสร้างซึ่งมีคำตอบที่ค่อนข้างจำกัด และอาศัยความรู้และทักษะที่มีคำจำกัดความอย่างชัดเจน ส่วนการเรียนแบบ Collaborative Learning เป็นรูปแบบการเรียนที่มีโครงสร้างไม่มากนัก เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรืองานที่ไม่มีโครงสร้างแน่ชัดเพื่อให้ได้คำตอบที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสวงหาคำตอบได้หลายทาง และต้องอาศัยความรู้และทักษะที่ไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัด การเรียนแบบ Cooperative Learning แบบเข้มข้นจะใช้การวางโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างงาน และโครงสร้างเนื้อหามากที่สุด แต่การเรียนแบบ Collaborative Learning จะอาศัยโครงสร้างเหล่านี้น้อยที่สุด Joung (2003) ได้ศึกษาความแตกต่างของการเรียนทั้งสองแบบ คือการเรียนแบบ Cooperative Learning ที่มีโครงสร้างสมบูรณ์ (High-Structure Cooperative : HSCP) และการเรียนแบบ Collaborative Learning ที่มีโครงสร้างไม่สมบูรณ์ (Low-Structure Collaborative: LSCL) กิจกรรมที่ใช้ไม่มีโครงสร้างมากมายเหมือนของ Cooperative Learning กล่าวคือการเรียนแบบ Collaborative Learning ที่ Joung (2003) ทำการทดลองมี แบบทดสอบก่อนเรียน (Pretest) การโต้อภิปรายออนไลน์ (Online Debate) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และ Posttest กลุ่มตัวอย่างได้ทำการประเมิน WebQuest สามคู่ ในด้านของข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบ WebQuest คือกิจกรรมการเรียนที่อาศัยการเสาะแสวงหาคำตอบผ่านทางเว็บ และผลการวิจัยสรุปว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจระหว่างทั้งสองกลุ่ม แต่การพัฒนาเกี่ยวกับความคิดเชิงวิพากย์ และการปฏิสัมพันธ์นั้นกลุ่มการเรียนแบบ Cooperative Learning ที่มีโครงสร้างสูง (HSCP) จะมีการพัฒนามากกว่ากลุ่ม Collaborative Learning ที่มีโครงสร้างไม่มากนัก (LSCL)



การเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
(Learner-centered Approach)
การเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered Approach) นั้น ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างผู้กระทำ (Active Learners) ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับฟังหรือผู้ถูกกระทำ (Passive Learners) อย่างสมัยก่อน เป้าหมายของการเรียนการสอนในสมัยใหม่คือ ผู้เรียนสามารถตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ด้วยตนเองทั้งหมด หรือมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกับครูผู้ชี้แนะ การเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนมีความสามารถในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ภารกิจที่สำคัญของผู้สอนคือ การออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยผู้สอนจะเน้นบทบาทในการเป็นผู้ชี้แนะหรือผู้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน รูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้ ได้แก่การเรียนแบบร่วมมือระหว่างผู้เรียนกันเอง การเรียนการสอนแบบร่วมมือระหว่างผู้เรียนและผู้สอน (Cooperative Learning and Collaborative learning) นอกจากนี้ยังมีการเรียนแบบโครงการ (Projected-based learning) การเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา (Problem-based learning) เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนเหล่านี้ ล้วนสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนแบบเว็บเควสท์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และสามารถใช้ในการประเมินการเรียนรู้ว่าผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีกระบวนการและการขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร รวมทั้งมีพัฒนาการในการเรียนรู้อย่างไรบ้าง

Links ที่เกี่ยวข้อง
1. http://webquest.sdsu.edu/ Web Quest Page at San Diego State University.
2. http://edweb.sdsu.edu/links/index.html Catalog of Catalogs of Web Sites for Teachers
3. http://webquest.sdsu.edu/taskonomy.html Examples of tasks you can ask your students to perform.
4. http://webquest.sdsu.edu/rubrics/weblessons.htm Templates and example rubrics.
5. http://www.pekin.net/pekin108/wash/webquest/ Example page - Who Killed King Tut?
6. http://www.educationworld.com/a_tech/tech011.shtml Education World article on WebQuests with links to WebQuest templates.



References
Dodge, B. J. (1995) Some thoughts about WebQuest [Online]. Available: http://edWeb.sdsi/edicpirses/edtec596/about_Webquests.html.

Dodge, B. J. (2000, June). Thinking visually with WebQuests [Online]. Presentation at the National Educational Computing Conference, Atlanta, GA. Available: http://edWeb.sdsu.edu/Webquest/tv/.

Johnson, D.W., & Johnson, R. T. (2000) Cooperative learning [Online]. Available: www.clcrc.com/pages/cl.html.

Joung, Sunyoung (2003). The effects of high-structure cooperative versus low-structure collaborative design on online debate in terms of decision making, critical thinking, and interaction pattern. PhD. THE FLORIDA STATE UNIVERSITY: 2003.

_________________________

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปการเรียนการสอนในสหรัฐอเมริกา

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปการเรียนการสอนในสหรัฐอเมริกา
โดย ทิพยรัตน์ หาญสืบสาย http://www.srru.ac.th/wrc/article.html
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์ การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง การปฏิรูปอุดมศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา : แนวทางสำหรับประเทศไทย ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2543 และพบว่า เป็นการประชุมโต๊ะกลมที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับทั้งผู้ที่อยู่และไม่อยู่ในวงการอุดมศึกษา แต่มีความห่วงใยในแนวทางการปฏิรูปการเรียนการสอนในสังคมไทย และยังเป็นการเสวนา ทางวิชาการที่น่าสนใจและชวนติดตามมากตั้งแต่ต้นจนจบเช่นกัน ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูล เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่าย World Wide Web หรือ การเรียนการสอนแบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ มาเสนอทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ LearnOnline ของ สบวท. ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้ย่อและตัดตอนมาจากฉบับเต็มของเอกสารรายงาน การวิจัยที่จัดทำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ชูเวช ชาญสง่าเวช ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลไปใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยต่อไป
ระบบอุดมศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา ลักษณะเฉพาะตัวของระบบอุดมศึกษาในสหรัฐที่ทำให้แตกต่างจากประเทศอื่น คือ เป็นระบบที่มีการกระจายอำนาจออกไปมาก และมีเครือข่ายของอำนาจความรับผิดชอบที่ซับซ้อน โดยรัฐบาลกลางเพียงแต่วางกรอบนโยบายการศึกษาอย่างกว้างๆ แล้วรับฟังเสียงจาก องค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ รัฐบาลของมลรัฐต่างๆ ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณของมลรัฐ อนุมัติการจัดตั้งและถอดถอนสถาบันอุดมศึกษา ต่างๆ และกำกับดูแลการดำเนินงานของ สถาบันอุดมศึกษาในมลรัฐนั้นๆ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชนทั้งหมดและสถาบันของรัฐส่วนใหญ่ มีฐานะเป็นบริษัท ซึ่งทำให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายนี้มีความเป็นเอกเทศทั้งในด้านวิชาการ การบริหารจัดการ การจัดหาทุน และการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ระบบการอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกาถือได้ว่าเป็นสมบัติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ ประเทศสหรัฐอเมริกา และถือเป็นระบบอุดมศึกษาที่ทั่วโลกใช้เป็นเป้าหมายเทียบเคียง ในระยะเวลาร่วม 400 ปี นับแต่มหาวิทยาลัยแห่งแรกได้ถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายหลายช่วง ปัจจุบันระบบอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกาเป็น ธุรกิจขนาดมหึมา ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยที่ให้ปริญญาประมาณ 2,100 แห่ง และวิทยาลัย ระดับอนุปริญญาประมาณ 1,500 แห่ง ประสาทปริญญากว่า 2 ล้านใบต่อปี และใช้จ่ายงบประมาณ 175 พันล้านดอลลาร์อเมริกัน อย่างไรก็ตามในขณะที่คริสต์สหัสวรรษที่ 3 ย่างเข้ามาถึง ระบบอุดมศึกษาอเมริกันกำลังเผชิญกับแรงกดดันทั้งทางด้านสังคม การเมือง เทคโนโลยี และการตลาด ให้ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าสหรัฐอเมริกา จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในลักษณะใด การปฏิรูปอุดมศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมานั้น เกิดจากการผลักดันอย่างจริงจังเมื่อปลายทศวรรษ 1980 การปฏิรูปที่เกิดขึ้นประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ๆ คือ การปฏิรูปการบริหารจัดการ และ การปฏิรูปวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับเปลี่ยน ด้านการเรียนการสอน
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปการเรียนการสอนในสหรัฐ แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งในเรื่องการเรียนการสอน ก็คือ การศึกษาผ่านทาง ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ ณ สถานที่หรือเวลาใดก็ได้ที่เหมาะสมกับ ความต้องการของตน แนวทางการเรียนการสอนแบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์เช่นนี้ นิยมเรียกว่า Asynchronous Learning Networks หรือ Anywhere/Anytime Learning Networks หรือ ALN "เครือข่ายการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา" เช่นนี้ กำลังมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในระบบอุดมศึกษา ของสหรัฐอเมริกา ดังรายงานผลการสำรวจอย่างเป็นทางการของศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ ของกระทรวงการศึกษาในปีการศึกษา 1997-98 พบว่า สถาบันอุดมศึกษาจำนวน 8% ของที่มีอยู่ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา มีหลักสูตรที่ให้ปริญญาหรือประกาศนียบัตร ด้วยการเรียนทางไกล ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ได้แก่ ระบบอินเทอร์เน็ตวีดิทัศน์แบบโต้ตอบสองทาง และวีดิทัศน์แบบทางเดียวที่บันทึกไว้ล่วงหน้า ที่สำคัญก็คือ สถาบันที่มีหลักสูตรการศึกษาทางไกล หรือมีแผนที่จะเปิด หลักสูตรทางไกลในสามปีข้างหน้าระบุว่า จะเริ่มใช้หรือเพิ่มการใช้ระบบ อินเทอร์เน็ต และวีดิทัศน์แบบโต้ตอบสองทางมากกว่าเทคโนโลยีอื่น สำหรับสาขาวิชาที่นิยมสอนทางไกล ปรากฎว่า 70% ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีการสอนทางไกล มีหลักสูตรทั่วไปในสาขาวิชาภาษาอังกฤษ มนุษยศาสตร์ และสังคม และพฤติกรรมศาสตร์ รองลงไปคือสาขาวิชาธุรกิจและการบริหารจัดการ ซึ่งมี 55% ของสถาบันที่สอนทางไกลทั้งหมด ส่วนใหญ่ของรายวิชาที่เปิดสอนทางไกลเหล่านี้ เป็นรายวิชาในระดับปริญญาตรี ยกเว้นในสาขาวิชาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศ ซึ่งต่างมีรายวิชาในระดับบัณฑิตศึกษามากกว่า ระดับปริญญาบัณฑิต ประมาณว่า ในสหรัฐอเมริกามีนักศึกษาที่ศึกษาทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกว่า 1 ล้านคน เทียบกับนักศึกษาที่เรียนทางอื่นประมาณ 13 ล้านคน
ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาที่มีการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาจแบ่งได้ เป็นสี่ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ สถาบันที่ขยายจากสถาบันแบบดั้งเดิม สถาบันการศึกษาผู้ใหญ่ที่มุ่งผลกำไร สถาบันการศึกษาทางไกลที่อิงเทคโนโลยี และสถาบันนานาชาติที่มีเครือข่ายทั่วโลก
สถาบันที่ขยายจากสถาบันแบบดั้งเดิม สถาบันอุดมศึกษาแบบดั้งเดิมจะทำหน้าที่เป็นสถาบันแม่ที่ให้บริการหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง แก่นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาผู้ใหญ่ที่เรียนทางไกล หลักสูตรเหล่านี้มักจะดำเนินการ ด้วยเงินลงทุนจำนวนมากหลายล้านดอลล่าร์โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฝ่ายบริหาร ตัวอย่างของหลักสูตรประเภทนี้ได้แก่
Web University ของ Washington State University
World Campus ของ Pennsylvania State University
Center for Learning Information ของ University of Wisconsin
CSU Institute ของ California State University
Virtual Michigan State University ของ New York University
School of Continuing Education ของ New York University
University of California–Berkeley Extension
Standford Online ของ Standford University
ข้อดี ของสถาบันในรูปแบบนี้ ก็คือ สถาบันแม่สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการศึกษาต่อเนื่อง ข้อที่อาจเป็นผลในทางลบ ก็คือ คณาจารย์ในสถาบันแม่ จะรับเอาวิธีการการเรียนการสอนในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ ไปใช้ได้ช้ากว่าสถาบันที่ใช้รูปแบบอื่นในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเพื่อการเรียนการสอน อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า มีวิทยาลัยบริหารธุรกิจหลายแห่งที่เริ่มใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสริมการเรียนด้วยหนังสือและเอกสารที่ใช้เป็นปกติอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุน ให้กับการดำเนินการสอนก็ตาม
สถาบันการศึกษาผู้ใหญ่ที่มุ่งผลกำไร
สถาบันในรูปแบบนี้มีรายได้ทั้งหมดเกือบจะมาจากค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่เก็บจากนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานเต็มเวลา ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ University of Phoenix ซึ่งเริ่มจากการเป็นสถาบันที่สอนในชั้นเรียนแบบดั้งเดิมแล้วเริ่มการเรียนการสอนผ่านทางระบบ คอมพิวเตอร์ออนไลน์ในปี 1989 ในปัจจุบันมีนักศึกษาถึง 68,000 คน ซึ่งรวมถึงนักศึกษา 9,500 คนที่ศึกษาทางระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ตลาดของการศึกษาผู้ใหญ่เช่นนี้ กำลังอยู่ระหว่าง การขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมหาวิทยาลัยที่เน้นการศึกษาผู้ใหญ่เพื่อผลกำไร กำลังพยายามพัฒนาไปในช่องทางนี้อย่างไม่หยุดยั้ง
สถาบันการศึกษาทางไกลที่อิงเทคโนโลยี เทคโนโลยี World Wide Web และระบบการประชุมทางไกลผ่านทางคอมพิวเตอร์ เป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับสถาบันประเภทนี้ ส่วนใหญ่เริ่มต้น จากการศึกษาทางไปรษณีย์ หรือสอนทางไกลที่ระบบสื่อสารดาวเทียม วิทยุโทรทัศน์และวีดิทัศน์ ตัวอย่างที่สำคัญ ในสหรัฐอเมริกาได้แก่ National Technological University (NTU) นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่จัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ที่ประสาทปริญญา ซึ่งทำการเรียนการสอนผ่านระบบ World Wide Web โดยที่ไม่มีสถานที่เรียนจริงแต่อย่างใด ได้แก่ Athena University Magellan University และ Jones International University
สถาบันนานาชาติที่มีเครือข่ายทั่วโลก มหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบันมิได้มีพรมแดนอีกต่อไปด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัย จำนวนมากที่ได้ใช้โอกาสที่เปิดขึ้นใหม่นี้ ขยายขอบเขตการดำเนินงานของตนไปทั่วโลก เช่น
Presidio World College for Sustainable Development อยู่ที่นครซานฟรานซิสโก ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ที่มีเป้าหมายที่จะเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนทั่วโลก ในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
Global One Virtual Campus ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์ UOL ของสหรัฐฯ กับบริษัท Global One ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนนานาชาติ สถาบันเปิดการเรียนการสอน ผ่านทาง World Wide Web ที่มุ่งเน้นหลักสูตรโทรคมนาคมและการบริหาร โดยใช้เครือข่ายการสื่อสารและโทรคมนาคมของ Global One ซึ่งมีอยู่ในประเทศ ต่างๆ กว่า 65 ประเทศ
การขยายตัวของการเรียนการสอนผ่านทางระบบสารสนเทศที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้ มิได้หมายความว่า การเรียนรู้โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศจะมาแทนที่การเรียนการสอน ในแบบดั้งเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่จะใช้เสริมกับวิธีการเรียนแบบดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งใช้ระบบ World Wide Web ในการให้การบริการสอนเสริม หรือรับส่งงานการบ้านให้กับนักศึกษาที่อยู่ในสถาบันนั้นเอง การเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์ ออนไลน์ จึงถือได้ว่าเป็นช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการเรียนรู้ นอกเหนือไปจากการฟังบรรยาย หรือในการใช้สื่อการศึกษาอื่นๆ เช่น ตำรา วีดิทัศน์ และสื่อวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ จะต้องพิจารณาด้วยตนเองว่าการเรียนทางเครือข่าย คอมพิวเตอร์เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด หรือจะให้เป็นระบบที่ใช้เสริมการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม และจะใช้วิธีการใดในการนำระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ไปใช้ปฏิบัติ การวางแผนเทคโนโลยี- สารสนเทศเพื่อการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ควรจะรวมอยู่ในการวางแผนพัฒนา ของสถาบันนั้นลงไปจนถึงระดับคณะและภาควิชา และจะต้องให้สอดคล้องกับค่านิยมในองค์กร และกำลังทางการเงินของแต่ละสถาบัน และต้องอาศัยภาวะผู้นำและการร่วมแรงร่วมใจจากคณาจารย์ ปัญหาที่สำคัญในการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตในการเรียนการสอน ยังคงเป็นปัญหาเดียวกัน กับปัญหาที่อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายต้องประสบอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักศึกษาเรียนรู้ได้อย่างดีที่สุด รายงานผลของการเรียนการสอนทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่มีต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าการใช้สื่ออินเทอร์มิได้มีผล ในทางลบต่อสัมฤทธิผลในการเรียนของนักศึกษาแต่อย่างใด และนักศึกษาที่มีความรู้สึกที่ดี ต่อการเรียนผ่านเครื่อข่ายคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยี-สารสนเทศได้รับการพัฒนาต่อไป ประสิทธิภาพการเรียนรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็อาจจะได้รับ การปรับปรุง ให้ดีขึ้นไปอีกได้
แนวโน้มด้านการเรียนการสอนในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นพ้องกันว่า ระบบอุดมศึกษาในทศวรรษหน้าจะมีความแตกต่าง ไปจากที่ได้เป็นมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านที่การเรียนการสอนจะได้รับการกำหนด ให้เหมาะกับความต้องการของผู้รับบริการทั้งจากผู้เรียนและบริษัทผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของ เนื้อหาการเรียนการสอนและวิธีการที่ใช้สื่อการเรียนการสอน สถาบันอุดมศึกษา จะต้องแข่งขันกันให้บริการการศึกษาต่อผู้เรียน ซึ่งมีความต้องการและความจำเป็นที่จะต้องได้รับ การศึกษาอบรมและพัฒนาความรู้ให้ทันสมัยตลอดชีวิตการทำงาน การแข่งขันที่มีมากขึ้นนี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน เนื่องจากจะมีโอกาสเลือกสถาบันการศึกษาและวิธีการเรียน ได้มากขึ้นในราคาที่เหมาะสมตรงกับความต้องการ และมีความสะดวกทั้งในด้านของเวลาและสถานที่ เรียน แนวโน้มที่คาดว่าสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกาจะพัฒนาไปในทศวรรษหน้า อาจสรุปได้เป็นประเด็นดังต่อไปนี้
สถาบันอุดมศึกษาจะมีจำนวนลดลงจากเมื่อสิบปีที่แล้ว ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาหลายร้อยแห่งได้ล้มเลิกกิจการ เนื่องจากหลายแห่ง ไม่อาจรักษาระดับมาตรฐานการให้การศึกษาไว้ได้โดยไม่ขึ้นราคาจนสูงลิ่ว อีกจำนวนไม่น้อยมิได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและวิธีดำเนินการได้ทันการณ์ ทำให้ไม่อาจดึงดูดนักศึกษาให้เข้ามาเรียนได้เพียงพอ นอกนั้นก็แปรรูปไป เป็นวิทยาเขตของสถาบันที่มีขนาดใหญ่กว่า สถาบันที่ยังคงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต ต้องเป็นสถาบันที่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไป และมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงการให้บริการหลักสูตร ให้มีคุณภาพสูงให้กับตลาดที่ชัดเจน
สถาบันต่างๆ จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ยังคงมีความต้องการ มหาวิทยาลัยที่ประสาทปริญญาและมีนักศึกษาเรียนเต็มเวลาในบริเวณมหาวิทยาลัย แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงจะทำให้มีจำนวนนักศึกษาจำกัด ดังนั้นจะมีคนเป็นจำนวนมาก ที่เลือกการเรียนแบบผสมผสานระหว่างการเรียนในมหาวิทยาลัยกับการศึกษา ในระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อทุ่นเวลาในการเรียนและลดการเดินทาง นอกจากนั้นจะมีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกการเรียนในระบบออนไลน์ล้วนๆ
จะมีสถาบันอุดมศึกษาเพื่อมุ่งผลกำไรในแบบของ University of Phoenix มากขึ้น เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้ ตรงกว่าสถาบันอุดมศึกษาแบบดั้งเดิม
นักศึกษาจะพิจารณาเลือกสถาบันที่จะเข้าศึกษาโดยดูจาก หลักสูตร ที่มีการอำนวยความสะดวก ต่างๆ และราคาค่าเรียนมากกว่าที่จะเลือกโดย ดูตำแหน่งที่ตั้งของสถาบันเช่นที่ผ่านมา
สภาพการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นกว่าทศวรรษที่ผ่านมา และไม่จำกัดอยู่ในระหว่างสถาบัน ในสหรัฐอเมริกาหรือทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้น แต่จะเป็นการแข่งขันระหว่างสถาบันทั่วโลก ขณะเดียวกันคาดว่าจะมีการจับกลุ่มเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดขึ้น ระหว่างสถาบันหลายแห่งเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสถาบันที่อยู่นอกกลุ่มได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในด้านความร่วมมือระหว่างสถาบัน ได้แก่ การใช้หลักสูตร ออนไลน์ในด้านการเขียนระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายสิบแห่งในสหรัฐอเมริกา
ความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและธุรกิจอุตสาหกรรม จะมีมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมจะสามารถมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ความรู้ และประสบการณ์ในการงานของตนแก่นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถบรรยายถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากการทำงานให้นักศึกษาผ่านทางระบบออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องออกจากสถานประกอบการของตน ขณะเดียวกัน คาดว่าจะมีบริษัทที่มีสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในสังกัดของตนเองเกิดขึ้นมาก ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทอเมริกันหลายแห่งที่มีหน่วยงานฝึกอบรมและให้การศึกษาแก่ พนักงานของตน ที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัย" เช่น บริษัท American Express, Apple, Disney, McDonald's, Motorola และ Xerox เป็นต้น
การมีสำนักงานผลิตสื่อการเรียนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เช่นเดียวกับการถ่ายทำภาพยนต์ในวงการบันเทิงธุรกิจในปัจจุบัน คาดว่าสื่อการสอน ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตจะมีการดำเนินการโดยสำนักผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มืออาชีพ การลงทุนในเรื่องนี้อาจมาจากสำนักพิมพ์ วงการวิทยุโทรทัศน์ กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา หรือบริษัทร่วมทุนระหว่างหน่วยงานเหล่านี้
การจัดทำเนื้อหารายวิชาให้ตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับพัฒนาการของ ผู้เรียนแต่ละคน ทั้งนี้จากการที่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการติดตาม ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ และปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนของนักศึกษาแต่ละคน ได้อย่างใกล้ชิด และสามารถมีข้อมูลป้อนกลับได้ในทันที จึงทำให้เป็นไปได้ ที่จะจัดทำบทเรียนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละคนได้ ไม่ว่าจะมีผู้เรียนเป็นจำนวนมากมายเพียงใด ซึ่งหากนำแนวคิดนี้มาใช้ได้สำเร็จ จนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายก็จะเป็นการปรับเปลี่ยนจากยุค" การศึกษามวลชน (Massification)" มาเป็นยุคของ "การศึกษามวลชนเฉพาะตัว (Mass Customization)" ได้ทีเดียว
มาตรฐานการศึกษาในระดับนานาชาติ คาดว่าจะมีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา ที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติตามกระแสโลกาภิวัฒน์ในด้านการอุดมศึกษา พัฒนาการนี้ชื้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานรับรองรองวิทยฐานะ และประกันคุณภาพในระดับนานาชาติ และคาดว่าจะมีบริการการทดสอบความรู้ โดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการรับนักศึกษา และการรับรองวิทยฐานะในสายวิชาชีพ ตัวอย่างของหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการนี้ ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บริษัท Sylvan Prometric เป็นต้น
ข้อสรุปเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนการสอนในสหรัฐอเมริกา การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกานั้น มีการทำกันในหลายลักษณะ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ในการเรียนรู้ของนักศึกษาโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวคือ เป็นการปฏิรูป ที่อยู่ในอำนาจของคณาจารย์ผู้สอนอยู่แล้ว ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้อย่างขนานใหญ่ ทั้งในรูปแบบและขนาดของห้องเรียน ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มุ่งให้นักศึกษาพัฒนาทักษะ ความสามารถในการวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกันเป็นทีม เรื่อยไปจนถึง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบ World Wide Web ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการเปิดโลกการศึกษาออกไปนอกกำแพงมหาวิทยาลัย อย่างไร้ขีดจำกัด ทั้งหมดนี้ มีบทเรียนร่วมกันอย่างหนึ่งจากประสบการณ์การปฏิรูปการเรียนการสอน ในสหรัฐอเมริกา นั่นคือการปฏิรูปที่มีประสิทธิผลอย่างแท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยแรงกดดัน จากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว กระแสหลักของการปฏิรูปการเรียนการสอนต้องมาจากภายใน สถาบันอุดมศึกษานั้นเอง โดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากคณาจารย์ที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน ใกล้ชิดกับนักศึกษาโดยตรงเป็นสำคัญ

ดูงาน